วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การหาตำแหน่งวางซับวูฟเฟอร์ แบบง่ายๆ


โดยทั่วไปการวางซับวูฟเฟอร์มักวางไว้ตามมุมเพื่อจะให้เสียงเบสที่มากขึ้น แต่ก็อาจไม่มีคุณภาพหรือบางทีเกิดอาการเบสบูมได้ บ้างก็แนะนำให้วางระหว่างทีวีกับลำโพงหลักซ้ายหรือขวา บางคนวางไว้ตรงกลางหน้าทีวีเลยก็มี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของซับวูฟเฟอร์ที่เป็นแบบยิงลงพื้น หรือยิงไปด้านหน้า ตู้เปิดหรือตู้ปิด ซึ่งการวางที่จะได้เสียงเบสหรือคลื่นความถี่ต่ำที่ดีบางครั้งต้องอาศัยผนังช่วยในการสะท้อน แต่ซับวูฟเฟอร์ของผมเป็นแบบตู้ปิดยิงเสียงออกด้านหน้า โดยหลักแล้วการวางชนิดผนังเป็นวิธีง่ายที่สุด หลังจากที่ศึกษาข้อมูลจากเวปต่างประเทศ แล้วนำมาทดลองทำตาม โดยยึดหลักที่ฝรั่งเค้าวางไว้เป็นแนวทาง แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามลักษณะห้องของเรา ก็ได้ออกมาเป็นข้อๆ ลองทำดูครับ (เฉพาะซับวูฟเฟอร์)
1. ซับวูฟเฟอร์ที่ใช้เป็นแบบแอคทีฟ คือมีแอมป์ภาคขยายในตัว นำเอาซับวูฟเฟอร์มาวางตรงจุดนั่งฟัง (ในที่นี้ควรเซ็ตลำโพงหน้าหลักซ้าย-ขวา ให้ได้ความถูกต้องเสียก่อน)



2. เปิดเพลงที่เล่นเน้นเบสโดยเฉพาะ เช่น I love bass หรืออะไรก็ได้ที่เสียงเบสโดดเด่น

3. ก้มลงคลานไปทั่วห้อง โดยเอาหูใกล้พื้นมากที่สุด แล้วฟังเสียงเบสดู หาตำแหน่งเสียงมีแรงกระแทก และมีโฟกัสไม่บวม จำและทำเครื่องหมายไว้ แล้วคลานต่ออีกหลายรอบซ้ำๆ กัน จนแน่นใจว่ามีเพียงตำแหน่งเดียวที่ดีที่สุด คุณก็จะได้จุดวางซับวูฟเฟอร์ที่ลงตัว


4. นำซับวูฟเฟอร์ไปวางในจุดที่หาได้ แล้วเปิดเพลงฟังเสียงดู อาจต้องเลื่อนเข้า เลื่อนออกอีกบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะความคลาดเคลื่อนเล็กๆ น้อยๆ ของหูเราเอง แต่ก็จะได้ช่วยให้หาตำแหน่งวางได้ง่ายที่สุดครับ

ส่วนการปรับแต่งเสียง ว่าจะใช้จุดตัดเท่าไหร่นั้น ต้องแล้วแต่ชุดเครื่องเล่นของเราว่าใช้อะไรบ้างก็ให้ดูตามคู่มือของ AVR ว่าแนะนำไว้อย่างไร ตัวอย่างจากชุดของผมใช้ AVR PIONEER VSX-822K ลำโพงหลัก wharfedale diamond 121 ลำโพงเซ็นเตอร์ wharfedale WH2 ซับวูฟเฟอร์ velodyne cht-8 เซอร์ราวน์ Onkyo SKF-591 เป็นลูกผสมนะครับบางคนบอกต้องใช้ทั้งหมดเป็นซีรี่ย์เดียวกันเสียงถึงจะดีที่สุด แต่ผมงบไม่มีต้องค่อยๆ ซื้อทีละตัวมันเลยเป็นแบบนี้ แต่เสียงออกมาก็รับได้เพราะไม่ซีเรียสอะไรมากมายนัก วิธีคือตั้งค่าลำโพงทั้งหมดให้เป็น Small เพราะเราต้องการให้ความถี่ต่ำทั้งหมดไปอยู่ที่ซับวูฟเฟอร์อย่างเดียว ส่วนที่ตัวซับวูฟเฟอร์ให้ใช้ Direct หรือ By Pass เนื่องจากเราไม่ต้องการให้สัญญาณผ่านครอสโอเวอร์ของตัวซับวูฟเฟอร์ แต่ให้ตัว AVR ทำหน้าที่เป็นตัวปล่อยสัญญาณความถี่ต่ำออกมา เสียงที่ได้จะกลมกลืนกันทั้งระบบ ส่วนจุดตัดที่ซับผมตั้งไว้ประมาณ 50-60 Hz อันนี้แล้วแต่ซับวูฟเฟอร์ แต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน ลองดูครับเผื่อเป็นแนวทางสำหรับมือใหม่เหมือนผม จะได้ไม่ต้องเสียเวลามากในการติดตั้ง คราวหน้าจะนำเสนอการเซ็ตระบบลำโพงโฮมเธียเตอร์ 5.1อีกทีครับ


แนะนำเวป www.เพลงลูกทุ่
งไทย.com ดูได้ตลอด 24 ชม. ช่วงทดลองแพร่ภาพครับ ตามลิ้งค์เลย http://www.xn--12clb7db1b7asb6qi3fzcwc.com/ มาฟังเพลงไทยกันครับ


วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

บินง่ายๆ กับ MINI FOAM PLANE

มาทำเครื่องบินโฟมตัวเล็กๆ บังคับวิทยุเล่นกัน....เนื่องมาจากอยากเล่นเครื่องบินบังคับวิทยุ แต่หาที่เล่นไม่ค่อยมี เพราะถ้าเล่นขนาดลำมาตรฐานต้องใช้พื้นที่ในการบินกว้างอย่างน้อยก็ประมาณสนามฟุตบอล ไม่งั้นไม่มีพื้นที่พอที่เครื่องจะร่อนไปมาได้ ด้วยเหตุนี้ก็เลยคิดทำลำให้เล็กลง เล่นในพื้นที่แค่สนามบาสก็บินได้แล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือเครื่องบินลำเล็กบินยากกว่าลำใหญ่ การสร้างก็ยุ่งยาก ด้วยลำตัวที่เล็กและบอบบางของโฟม การสร้างต้องทำให้น้ำหนักของเครื่องเบาที่สุด ไม่งั้นจะบินไม่ขึ้น ทำให้เวลาหาซื้ออุปกรณ์เล็กจิ๋วในบ้านเราไม่ค่อยมี บางอย่างจึงต้องสั่งจากต่างประเทศ ใช้เวลานานพอสมควร แต่เมื่ออยากเล่นแล้ว ก็ต้องทำใจยอมรับ หลังจากรวบรวมหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ได้จนครบ ก็เริ่มลงมือสร้างกัน ขั้นแรกก็ไปหาแปลนมาก่อนซึ่งมีมากมายในเวป เลือกเอาแบบที่เราต้องการที่จะเล่น ผมเลือกแบบบินง่ายๆ ช้าๆ เล่นท่าทางได้ ประมาณบิน 3D ตามลิ้งค์ครับ http://www.rcgroups.com/forums/showthread.php?t=375893 เมื่อได้มาก็เอามาปริ้นลงกระดาษ ขนาดที่ใช้ในการทำครั้งนี้คือ ความยาวปีก 38 ซม. ลำตัว 40 ซม. เพื่อทำเป็นแบบในการตัดโฟม โดยใช้โฟมแผ่นเรียบขนาด 3 มม. มีขายตามร้านขายเครื่องเขียนทั่วไป (เป็นโฟมแบบเรียบไม่ใช่โฟมหยาบที่ทำกระทง) วางแบบแล้วใช้คัดเตอร์ตัดตามลายเส้นง่ายดี พอได้เป็นชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งหมดแล้วก็เอามาพ่นสีตามความชอบ ให้ระวังเวลาพ่นสี เพราะสีสเปร์ยกระป๋องมีส่วนผสมของแลคเกอร์จะกัดเนื้อโฟม เวลาพ่นให้พ่นห่างๆ ค่อยๆ พ่นทีละชั้นรอแห้ง แล้วพ่นทับอีก หลังจากนั้นเอาส่วนต่างๆ มาประกอบเป็นตัวลำเครื่องบิน เริ่มจากปีกซ้าย-ขวา โดยใช้กาวร้อนแท่งเพราะไวดี ไม่ต้องรอแห้ง ดามปีกด้วยแท่งคาร์บอน หรือถ้าไม่มีใช้ไม้ไผ่เหลาก็ได้เพื่อเสริมความแข็งแรงของปีก เวลาบินโดนลมปะทะจะได้ไม่แอ่น เสร็จแล้วติด Aileron และ Rudder เครื่องบินลำนี้ใช้ Aileron กับ Elevator ตำแหน่งเดียวกัน เวลาเล่นใช้วิธี Mix โปรแกรมที่วิทยุ การติดใช้เทปใยสัปปะรด โดยปาดโฟมด้านในเป็น 45 องศา เพื่อให้เป็นลักษณะบานพับ เมื่อประกอบลำตัว ปีก หางเสร็จเรียบร้อยก็นำชุดไฟมาติดตั้งลงไป เวลาลงอุปกรณ์ให้คำนึงถึงจุดศูนย์ถ่วง CG (จุด CG เครื่องบินทุกลำ แปลนเค้ากำหนดมาให้แล้วสะดวกไม่ต้องหาเอง) เพราะไม่งั้นเวลาบินเครื่องบินอาจเชิดหัวขึ้นฟ้า หรือหัวปักลงดิน ทำให้บินไม่ได้ ดูรูปภาพประกอบจะช่วยให้เห็นตำแหน่งการจัดวางคร่าวๆ การติดตั้งมอเตอร์ ให้หาไม้อัดบางมาทำเป็นแป้นแล้วค่อยยึดติดกับส่วนหัวเครื่องบินด้วยกาวร้อน กดมอเตอร์ให้ก้มลงนิดนึงประมาณ 2-3 องศา จากนั้นหาตำแหน่งที่จะเจาะรูวางแบต โดยใช้เทปแปะยึดแบตกับลำตัว แล้วใช้นิ้วชิ้วสองข้างวางที่จุดของ CG ใต้ปีกทั้งสองข้าง ค่อยๆ ขยับหาตำแหน่งจนได้กึ่งกลาง แล้วขยับเลื่อนให้หัวเครื่องก้มลงเล็กน้อย ก็จะได้ตำแหน่งพอดี จากนั้นใช้มีดเจาะลำตัวให้ช่องใส่ฟิตกับแบตเล็กน้อยเวลาบินจะได้ไม่หลุด ลำนี้หลังจากประกอบทุกอย่างรวมทั้งแบตแล้วน้ำหนักรวม 67 กรัม พยามยามลดแล้วแต่ยังหนักอยู่ไม่รู้จะบินขึ้นรึป่าว ไว้ลองเอาไป First Flight ดูก่อน.....แล้วจะมา Update อีกที

รายการอุปกรณ์ทั้งหมด
1.โฟมแผ่นเรียบหนา 3 มม.
2.กาวแท่งร้อน
3.แท่งคาร์บอนด์ หรือไม้ไผ่
4.ลวดขนาด 0.5 มม.สำหรับทำคันชัก
5.เทปใยสัปปะรด
6.เทปใส
7.มีดคัดเตอร์
8.สีสเปร์ย
ชุดไฟและอุปกรณ์
1.มอเตอร์จิ๋ว ขนาด 3700 Kv น้ำหนัก 3.8 กรัม
2.สปีด ESC 4 Amp
3.เซอร์โวขนาด 3.7 กรัม 3 ตัว
4.รีซีฟเวอร์ 4 แชลแนลขนาดเล็ก
5.วิทยุบังคับ 4-6 แชลแนล
6.แบตเตอร์รี่ Lipo 180 mA 7.4v
7.ใบพัดขนาด 3020 กับ 4025 (ต้องลองบินดูก่อนว่าขนาดไหนที่เหมาะสมที่สุด)