วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

D I Y อ ะ ไ ร ก็ ไ ด้ . . . ต า ม ใ จ ฉั น: ลองทำแอมป์คลาสเอ 10 วัตต์

D I Y อ ะ ไ ร ก็ ไ ด้ . . . ต า ม ใ จ ฉั น: ลองทำแอมป์คลาสเอ 10 วัตต์: ทำไมถึงชอบ D.I.Y. หรืองานประเภท HOME MADE สืบเนื่องมาจากการที่ผมเป็นคนชอบประกอบของเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นเรียนอยู่ต่างจังหวัด ชอบอ่านหนั...

TUBE-BUFFERED GAINCLONE LM-3886T

GAINCLONE เป็นแอมป์ที่นิยมต่อเล่นกันมาก ทุกวันนี้ก็ยังนำมาสร้างกันอยู่เรื่อยๆ เพราะอุปกรณ์น้อย ราคาไม่แพงแต่ให้เสียงที่ดีมาก ต้นฉบับมาจาก Gaincard amplifier ออกแบบโดย Mr. Junji Kimura  จาก 47 Labs อเมริกา ราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 14X,XXX บาท หลังจากนั้นก็มีนัก DIY พยายามหาข้อมูลของ Chip amp จนได้เบอร์ที่ใช้คือ LM 3875 แล้วมาวิเคราะห์นำเสนอออกมาเป็น GAINCLONE หลายๆ เวอร์ชั่นแล้วนำมาเผยแพร่ให้บรรดาผู้ที่ชื่นชอบต่อฟังกันจนถึงทุกวันนี้ ส่วนตัวผมเคยทำเล่นมานานแล้ว แต่คราวนี้อยากลองอีกรูปแบบนึงคือเป็นไฮบริดเกนโคลน มีภาคขยายเป็นหลอดสูญญากาศ  เบอร์ 6DJ8 , 6922, Ec88 ทำงานที่ไฟ +/-35V วงจรที่ใช้ต้นฉบับเป็นของ Joe Rasmussen   กับอีกอันที่ปรับปรุงใหม่จาก moxtone.com ตามแบบของวงจรใช้ชิพ LM-3875T เผอิญผมมีแต่ LM-3886T ก็คิดว่าใช้ได้เหมือนกัน แต่ขา IC ไม่เหมือน เวลาต่อต้องแก้ตำแหน่งก่อน หลอดจะใช้หนึ่งหรือสองแยกซ้าย-ขวาก็ได้ ส่วนผมใช้หลอดเดียวประหยัดเงินดี เพราะในตัวหลอดมันมีแยกกัน 2 ข้างอยู่แล้ว ข้อระวังของแอมป์นี้คือจุดต่อ Ground ถ้าไม่ถูกต้องจะมีการรบกวน ทำให้เกิดเสียงฮัมได้ และที่สำคัญอีกอย่าง ที่เอาต์พุตของแอมป์ช่วงเปิดเครื่องจะมีไฟ DC ออกมา ควรมีวงจร Mute หรือหน่วงเวลาไม่ให้ไฟ DC ออกไปทำลายลำโพง

วงจรต้นฉบับของ Joe Rasmussen


วงจรของ moxtone
ผมเอาวงจรทั้งสองมาประยุกต์นิดหน่อย แล้วประกอบทั้งหมดลงในกล่อง UPS เก่า ต้องพยายามยัดอยู่หลายครั้ง กว่าจะลงได้ แต่หม้อแปลงไฟของหลอดหาที่วางข้างในไม่ได้เลยเอามาไว้ด้านบน ผลออกมาเป็นอย่างที่เห็นตามรูป





สำเร็จไปอีกหนึ่งชิ้น กับแอมป์ฟังเพลงที่ต่อตรงจาก CD หรือ โน๊ตบุ๊คโดยไม่ต้องผ่านปรีแอมป์ ซุ้มเสียงใช้ได้เลยกับแอมป์ราคาประหยัด (ขึ้นอยู่กับเกรดของอุปกรณ์) สนใจมาทดลองฟังกันได้ ยินดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปรับปรุงขาตั้งลำโพงเก่า

มีขาตั้งลำโพงเก่าอยู่คู่นึง อยากจะเปลี่ยนใหม่เนื่องจากมีเสากลางเสาเดียวดูแล้วไม่ค่อยมั่นคงเท่าไหร่ เค้าทำมาสำหรับลำโพงขนาด 4-5 นิ้ว เวลาวางลำโพงวางหิ้งขนาด 6 นิ้วขึ้นไปแล้วไม่เหมาะ ความเสถียรไม่ได้ จะขายแล้วเอาเงินไปซื้ออันใหม่ก็น่าจะได้ราคาไม่ต่างจากเศษเหล็ก เสียดายตอนนั้นซื้อมาหลายพัน จะเก็บไว้ก็รกห้อง ถ้าอย่างนั้นเอาปรับปรุงใหม่ดีกว่า ประหยัดเงินไปได้อีกหลายพัน เพราะราคาขาตั้งลำโพงแบบธรรมดาไม่มียี่ห้อ ขนาด 24 นิ้วราคาประมาณ 3-4000 บาท ถ้ามียี่ห้อตัวที่นิยมกันก็แพงขึ้นไปอีกมาก ไม่ไหวเกินความจำเป็นสำหรับคนธรรมดาแบบผมมาก

ขาลำโพงตัวเก่า
อุปกรณ์ที่ใช้มี -ท่อน้ำ PVC ขนาด 5.5 cm.  -แผ่นไม้อัด  -ทรายกรองละเอียด  -กาวอีพ๊อกซี่ -กระดาษทราย  -สีสเปรย์กระป๋อง
ขั้นแรกตัดท่อ PVC ขนาดเท่ากับเสากลางเดิม แล้วขัดกระดาษทรายเพื่อให้สีพ่นเกาะติด เสร็จแล้วเอาแผ่นไม้อัดมาตัดฉลุให้ได้ขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อด้านในทั้งหมด 4 ชิ้น นำแผ่นไม้กลมที่ได้ปิดด้านหนึ่งของท่อทั้งคู่เพื่อกันทรายออกเวลากรอกทรายด้วยกาวอีพ๊อกซี่ เสร็จแล้วใช้สีสเปรย์พ่นให้สวยงาม รอสีแห้งสนิทนำเอากระบอกทั้งคู่มากรอกทรายละเอียดที่เตรียมไว้จนเต็ม เคาะ-กระทุ้งให้ทรายแน่นแล้วเอาแผ่นไม้กลมที่เหลือมาปิดทับอีกทีก็จะกลายเป็นเสาหนักๆ อีก 2 ต้น เอาเสาที่ได้ไปติดบนขาตั้งเดิมในตำแหน่งที่ต้องการด้วยกาวอีพ๊อกซี่ รอกาวแห้งสนิทก็จะได้ขาตั้งลำโพงที่มีความเสถียรดีขึ้นจากอันเดิม เพราะด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากทรายแล้ว การยึดเกาะกันของโครงสร้างจะทำให้ขาตั้งไม่เกิดการสั่นสะเทือน หรือเกิดขึ้นก็น้อยลงไปจากเดิมมาก ซึ่งมีผลต่อเสียงมากเมื่อนำลำโพงมาวาง


ท่อน้ำ PVC. กับไม้อัดตัดฉลุเป็นวงกลม



พ่นสีแล้วปิดด้านใดด้านนึงด้วยแผ่นไม้กลม

กรอกทรายละเอียดจนเต็ม

ยึดติดกับขาตั้งเดิมด้วยกาวอีพ๊อกซี่
ประหยัดเงิน ใช้งานได้ดี ตามสไตล์ของงาน D I Y ครับ



แนะนำเวป www.เพลงลูกทุ่
งไทย.com ดูได้ตลอด 24 ชม. ช่วงทดลองแพร่ภาพครับ ตามลิ้งค์เลย http://www.xn--12clb7db1b7asb6qi3fzcwc.com/ มาฟังเพลงไทยกันครับ


วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปรีแอมป์ ZEN LINE STAGE

ระหว่างรอกล่องเพาเวอร์แอมป์ มาทำปรีกันดีกว่า วงจรนี้เป็นของ NELSON PASS ปรมาจารย์ด้านการออกแบบเครื่องเสียงของอเมริกา เดิมเป็นวงจรแบบ Balance คือขั้วต่อด้านหลังเป็นแบบ 3 ขา แต่ที่ต้องการทำคือ Un-Balance ใช้ขั้ว RCA ที่เห็นกันทั่วไป  เลยต้องแปลงวงจรเล็กน้อย เพื่อให้สามารถใช้กับแอมป์ที่มีอยู่ซึ่งเป็นแบบ RCA ได้


วงจรต้นฉบับ สังเกตุ OUT กับ IN มีทั้ง + และ -
ส่วนนี่เป็นวงจรที่แก้ให้อินพุทเป็นแบบ RCA และเปลี่ยนเป็นใช้โวลุ่มปรับเสียงด้านขาเข้า ของต้นฉบับโวลุ่มจะอยู่ด้านเอ้าท์พุท ต้องขอย้ำก่อนว่าวงจรของเดิมเค้าดีมากอยู่แล้วนะครับ แต่ผมปรับมาเพื่อให้ใช้งานกับของตัวเองเท่านั้น เดี๋ยวจะเข้าใจผิดไป

แก้ไขตามภาพ
และนี่เป็นวงจรภาคจ่ายไฟ ใช้ไฟออก 60 V ผมหาหม้อแปลงไม่ได้ ใช้วิธีเอาหม้อแปลง 24-0-24 จำนวน 2 ตัวมาต่ออนุกรมกัน โดยเอาเฉพาะไฟ 24 ต่อกับ 24 ไม่เอาไฟ 0 ต่อแล้วผ่านวงจรได้ไฟออก 60 V เหมือนกัน

วงจรภาคจ่ายไฟ
จะฟังเพลงได้รึเปล่าเนี่ย 555

R750 Ohm ตัวใหญ่ร้อนมากๆ

หม้อแปลงแบบลูกทุ่ง

ข้อระวังของวงจรนี้คือความร้อน เพราะฉะนั้น FET ทุกตัวต้องใช้ฮีทซิงค์ใหญ่หน่อย อีกตัวคือ R1-R6 ต้องใช้ขนาด 3W ตามสเปคเพราะมีความร้อนสูงมากถ้าใช้วัตต์ต่ำจะไหม้ได้ ขนาดผมใช้ตัวใหญ่ 3 W ยังร้อนมากๆ จนจับแทบไม่ได้เลย

ใช้กล่องอุปกรณ์เน็ตเวิร์คมาใส่อาจจะดูไม่งามเท่าไหร่


แนะนำเวป www.เพลงลูกทุ่
งไทย.com ดูได้ตลอด 24 ชม. ช่วงทดลองแพร่ภาพครับ ตามลิ้งค์เลย http://www.xn--12clb7db1b7asb6qi3fzcwc.com/ มาฟังเพลงไทยกันครับ




วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ลองทำแอมป์คลาสเอ 10 วัตต์

ทำไมถึงชอบ D.I.Y. หรืองานประเภท HOME MADE สืบเนื่องมาจากการที่ผมเป็นคนชอบประกอบของเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นเรียนอยู่ต่างจังหวัด ชอบอ่านหนังสือ "ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์"



จะมีโครงงานให้เด็กๆ ทดลองทำอยู่เสมอ จำได้ว่าครั้งนึงเคยลองทำวิทยุแร่ที่เวลาจะฟังต้องใช้ตัวคีบหนีบสายลวดหาคลื่นฟังด้วยหูฟังอันเล็กๆ ข้างเดียวเหมือนที่ใช้กับคนหูหนวก เวลาทำไม่ยากเท่าไหร่ ลำบากก็ตรงจะซื้ออุปกรณ์แต่ละทีต้องนั่งรถไฟมากรุงเทพใช้เวลาเป็นวัน เวลาใช้งานต้องค่อยๆ หมุนหาคลื่นจนกว่าจะได้ยินเสียงครืดคราด ซักพักก็เป็นเสียงเพลงเสียงคนพูดขึ้นมา กว่าจะสำเร็จได้ก็ต้องลองไปลองมาหลายครั้งอยู่เหมือนกัน  ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ทำได้ พอโตขึ้นจนกระทั่งตอนนี้อายุมากแล้ว มีเวลาว่างมากขึ้น และพอจะมีเงินหาซื้ออุปกรณ์ได้ จึงกลายเป็นงานอดิเรกยามว่างขึ้นมา
  
       ขั้นตอนการประกอบ การปรับแต่งในบทความนี้จะไม่มีวิชาการใดๆ เนื่องมาจากตัวผมไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านอีเล็คโทรนิค มันเป็นความชอบและความอยากรู้ส่วนตัว มาจากความเข้าใจของผมเองเรียกว่าแบบบ้านๆ เลยก็ได้ ดังนั้นหากภาษาหรือศัพท์ที่ใช้เรียกกันไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นไปตามหลักการที่มืออาชีพทั้งหลายทำกันแล้ว ก็ขอให้เข้าใจ ณ ที่นี้ด้วย ทั้งนี้ได้ทดลองมาแล้วว่าใช้งานได้จึงนำมาแบ่งปันประสบการณ์กัน เข้าเรื่องเลยแล้วกัน เนื่องมาจากอยากทำแอมป์ฟังเพลงเล่นที่คุณภาพเสียงดีซักตัว แต่มีโจทย์อยู่ว่า วงจรต้องง่าย อุปกรณ์ไม่เยอะ หาง่ายในประเทศ และที่สำคัญราคาต้องไม่แพง เพราะผมไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้ แล้วก็ค้นหาได้วงจรจากอินเตอร์เน็ต เป็นเพาเวอร์แอมป์ ขนาด 10 วัตต์ คลาสเอ ได้วงจรจากเวปนอก Death of Zen (DoZ) ต้องขอขอบคุณ Rod Elliott (ESP) ด้วยที่เผยแพร่ให้ได้ทำกัน ซึ่งวงจรนี้มีนัก D.I.Y. ในไทยก็ทำเล่นกันหลายคนแล้ว หลังจากที่ดูวงจรแล้วคิดว่าน่าจะพอทำได้ ก็เริ่มหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ สะสมจนครบ แล้วเตรียมลงมือประกอบ ก่อนทำต้องวาดแบบการวางอุปกรณ์แต่ละตัว จากไดอะแกรมของวงจร (ใช้วงจรตามภาพนี้แต่ตัดบางตัวออกไป)



แล้วกำหนดขาอุปกรณ์แต่ละตัวให้ถูกต้อง จากนั้นโยงเส้นเชื่อมขาแต่ละขาตามวงจร เช็คขั้วบวก ลบ + - และตำแหน่งขาต่างๆ เพื่อความถูกต้องหลายๆ รอบ เพราะถ้าผิดพลาดในการเชื่อมขา หรือวางอุปกรณ์ผิดตำแหน่ง จะทำให้เกิดการลัดวงจร ผลที่ได้คืออุปกรณ์อาจเสียหายหรือไหม้ได้ จากนั้นทำการวางอุปกรณ์คร่าวๆ ตามแบบที่เขียนไว้ แล้วทำการบัดกรีเชื่อมขาอุปกรณ์แต่ละตัวเข้าด้วยกัน การทำแบบนี้เรียกว่า Hard wire โดยใช้วิธีต่อตรงขาชนขา ไม่ได้ใช้แผ่น PCB  ข้อดีคืออุปกรณ์ทุกตัวต่อกันโดยไม่ต้องผ่านลายวงจร ทำให้การเดินทางของสัญญาณสั้นลง แต่ที่ผมทำนี่ไม่รู้ว่าจะเพิ่มการสูญเสียรึเปล่าเพราะฝีมือการเชื่อมตะกั่วแบบมือสมัครเล่น  ข้อเสียคือต้องทำให้เหมือนกันอีกหนึ่งชุด (สเตอริโอ ซ้าย-ขวา) ในการประกอบอาจเกิดอาการงง หรือหลงลืมบางจุดได้ ไม่เหมือนแผ่น PCB วงจรสำเร็จรูปที่มีเบอร์ และรูในการลงอุปกรณ์ต่างๆ สะดวกกว่ากันเยอะ วงจรนี้เป็นแอมป์แบบคลาสเอ ที่กินกำลังไฟมากแต่ให้กำลังภาคเอ้าพุทน้อย ครั้งแรกว่าจะใช้หม้อแปลงลูกเดียว เนื่องจากศึกษารายละเอียดไม่ดี 



มาเช็คอีกทีที่เวปแนะนำให้ใช้ 300 VA คำนวนแล้วได้ 10 แอมป์ก็เลยต้องจัดเป็น 2 ลูกๆ ละ 5 แอมป์ เพิ่มน้ำหนักเข้าไปอีกเยอะ หม้อแปลงในเวปใช้ 25-0 V แต่หาซื้อได้แค่ 24-0 V ก็ใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ตอนปรับกระแสให้ลดลงตามตารางที่เวปแนะนำให้ ภาคจ่ายไฟใช้แบบ CAPACITANCE MULTIPLIER วงจรยุ่งยากหน่อยแต่ให้กระแสไฟราบเรียบดีกว่าแบบธรรมดา เหมาะกับแอมป์ที่ต้องการภาคจ่ายไฟดีๆ


วงจรภาคจ่ายไฟ
หลังจากต่ออุปกรณ์ทุกชิ้นเรียบร้อยให้ทำการดับเบิ้ลเช็คหลายๆ ครั้งเพื่อความชัวร์ครับ เพราะผมเคยพลาดหลายครั้งแล้ว ก่อนต่อไฟเข้าวงจรให้ปรับที่ VR1 ให้ค่าความต้านทานไว้ประมาณครึ่ง ส่วนที่ VR2 ให้ปรับค่ามากที่สุด เพราะถ้าไม่ปรับไว้ก่อนจะทำให้กระแสเกินที่กำหนดเกิดความร้อนสูง อาจทำให้ทรานซิสเตอร์ไหม้ได้ แล้วทำการช๊อตอินพุท โดยการต่อจุดอินพุทกับกราวน์เข้าด้วยกัน จากนั้นจ่ายไฟเข้าวงจรได้ แอมป์ตัวที่ทำนี้ ใช้หม้อแปลง 24-0 V ผ่านวงจรแปลงกระแสแล้วได้ไฟประมาณ 30 V ก็ปรับค่า VR1 ให้ได้กระแสครึ่งนึงของไฟเข้าก็คือ 15 V หลังจากปรับไฟเข้าได้จนนิ่งแล้ว ให้ปรับ VR2 เพื่อปรับกระแสสงบ quiescent current จ่ายให้ทรานซิสเตอร์ทำงาน ตามสูตรแล้ว ให้ได้ประมาณ 1.30 โดยการปรับให้ต่อรีซิสเตอร์ค่า 1 Ohm 10W เข้าที่ขั้วไฟ V+ ก่อน แล้วต่อไฟจากภาคจ่ายไฟเข้า วิธีการวัดให้ใช้มัลติมิเตอร์แบบดิจิตอลวัดคร่อมขารีซิสเตอร์ 1 Ohm ค่อยๆ หมุนปรับทีละนิด ต้องใช้เวลานานหน่อยประมาณ 30 นาที ดูตัวเลขที่มัลติมิเตอร์ได้ประมาณ 1.3 V ไม่ให้แกว่งไปมาจนค่อนข้างนิ่ง ตอนปรับนี้ฮีทซิ้งจะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องตกใจ 


ตารางการปรับกระแสสงบ
หลังจากนั้นให้วัดไฟที่เอ้าพุท ออกลำโพง ต้องได้ใกล้ 0-0.4 โวลท์ ถ้าไฟเกินกว่านี้ให้ตรวจเช็คการลงอุปกรณ์ และการจัดกราวน์วงจรอีกที ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ ก็ปลดรีซิสเตอร์ 1 Ohm ออกแล้วลองเอาสัญญาณจากเครื่องเล่นผ่านปรีแอมป์ (โครงงานอันดับต่อไป) เข้าที่อินพุท แล้วเอาลำโพง 8 โอห์ม (เป็นตัวสำหรับใช้ลองราคาถูก) ต่อเข้าที่เอ้าพุท ถ้าทุกอย่างถูกต้องก็จะได้ยินเสียงออกมา เท่านี้แหละสำเร็จ ได้ฟังเพลงกันแล้ว จากนั้นประกอบลงกล่องเพื่อความสวยงามและปลอดภัยอีกที ถึงขั้นตอนนี้ก็แล้วแต่รสนิยมของใครของมันทำตามความชอบกันเอง

และนี่ก็เป็นเวอร์ชั่นที่ผมทำ มีการดัดแปลงบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับอุปกรณ์ที่หามาได้ ตอนนี้ทดลองเทสต์ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ต่อปรีแอมป์มีเสียงออกลำโพง และไม่มีอาการฮัม แต่ยังไม่รู้ว่าถ้าประกอบลงกล่องเรียบร้อยแล้วจะมีเสียงฮัมออกลำโพงหรือเปล่า ก็ต้องรอดูกันต่อไปหลังจากนี้ ส่วนเรื่องเสียงยังบอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่...


การวางอุปรณ์ลงบอร์ดไข่ปลา


เวอร์ชั่นของผมเพิ่มพัดลม 12 V. ช่วยลดความร้อน


ภาคจ่ายไฟ ใช้วงจรแบบ Capacitance Multiplier


รอประกอบลงกล่องอีกที
ไว้หลังจากประกอบลงกล่องเรียบร้อยแล้วจะนำภาพมาเสนออีกที TO BE CONTINUED...

หลังจากกล่องที่ สั่งทำมาถึงแล้ว ก็นำอุปกรณ์ทั้งหมดยัดลงไป แน่นมากๆ มีการปรับแต่งบ้างเนื่องจากขนาดไม่พอดี แต่ก็แก้ไขผ่านไปได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้คือฝาปิดวัดผิดขนาดทำมาสั้นไป  

พยายามยัดๆ ลงไป






จากนั้นมาลองฟังเสียงกัน ครั้งแรกที่ฟังรู้สึกถึงรายละเอียดต่างๆ ได้พอสมควร เสียงร้องชัดเจน เสียงดนตรีมีการแยกแยะได้ดีมาก ต้องรอเบรินเครื่องอีกซัก 100 ชม. น่าจะดีขึ้นได้อีก สำหรับผมคนฟังเพลงระดับพื้นๆ หูตะกั่วกับสิ่งที่ได้เท่านี้ก็ถือว่าดีมากแล้ว คุ้มค่ากับการทำ ที่สำคัญคือ ได้ทำในสิ่งที่รักและชอบ ก็เป็นความสุขอีกแบบนึงครับ


แนะนำเวป www.เพลงลูกทุ่
งไทย.com ดูได้ตลอด 24 ชม. ช่วงทดลองแพร่ภาพครับ ตามลิ้งค์เลย http://www.xn--12clb7db1b7asb6qi3fzcwc.com/ มาฟังเพลงไทยกันครับ